วันอาทิตย์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2552


อโศกมหาราช จอมจักรพรรดิผู้สร้างสรรค์การเมืองใหม่
โดย ท่าน ว.วชิรเมธี
ที่มา: http://www.vimuttayalaya.net/DharmaDaily.aspx?id=73&page=10


วันที่ ๑๖ – ๒๑ กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ผู้เขียนจาริกอยู่ในแดนพุทธภูมิพร้อมด้วยคณะ ”ธรรมจาริก” ตามรอยพระพุทธเจ้า ซึ่งศึกษาอยู่ในหลักสูตร “วิชาชีวิต” หรือ “กิเลส แมเนจเม้นท์”(kilesa Management) ของสถาบันวิมุตตยาลัย จำนวน ๒๕ ชีวิต คณะของเราทั้ง ๒๕ ชีวิตท่องไปในแดนพุทธภูมิเพื่อเยี่ยมเยือนสังเวชนียสถานอันนับเนื่องในชีวประวัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยหัวใจอันเปี่ยมสุข ตลอดเส้นทางแห่งการศึกษาวิชาชีวิต ที่อบร่ำด้วยประวัติศาสตร์และการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยชีวิตอันกว้างใหญ่ไพศาลในแดนพุทธภูมิ หลายครั้ง หลายคน ในคณะของเราต้องหลั่งน้ำตาให้กับความปลื้มปีติในธรรม (ทุกแห่งที่เราไปเยือนมีการบรรยายธรรมและนำปฏิบัติสมาธิ) และซาบซึ้งในปฏิปทาอันยิ่งใหญ่ในทางธรรมของปวงมหาบุรุษมากมายในประวัติศาสตร์ที่ได้รังสรรค์สิ่งดีๆ นับอเนกอนันต์ฝากให้ให้แก่อนุชน ระหว่างเส้นทางสายบุญและปัญญาคราวนี้นั้น วันที่คณะของเราจาริกไปเยือน “วัดอโศการาม” ของพระเจ้าอโศกมหาราช นับเป็นอีกวันหนึ่งที่อยู่ในความทรงจำของใครต่อใครหลายคน บางคนต้องเสียน้ำตาให้กับความเสียสละอันใหญ่หลวงของมหาราชพระองค์นี้

มหาราชผู้ครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็น “ทรราช” แต่ทรงกลับพระทัยได้ทันเสียก่อน โลกจึงเรียกขานพระองค์เสียใหม่ว่าเป็น “มหาราช”

ใช่หรือไม่ว่า ในชีวิตจริง หากเราขับรถไปยังที่ใดที่หนึ่งแล้วเกิดเลี้ยวผิดทาง ก็ยังสามารถกลับรถใหม่ได้อย่างง่ายดาย แต่หากใครสักคนหนึ่ง ดำเนินชีวิตไปสักพักแล้วเกิดตระหนักรู้ว่า กำลังดำเนินอยู่บนหนทางที่ผิด แต่ในที่สุดก็สามารถกลับตัวกลับใจได้ คนเช่นนี้ ไม่ใช่หาได้ง่ายๆ แต่ทั้งๆ ที่หาได้ยากนี้เอง พระเจ้าอโศกมหาราช ก็ทรงเป็นหนึ่งในบุคคลผู้ทำสำเร็จมาแล้ว

ทั้งมิใช่ทรงทำสำเร็จอย่างธรรมดาสามัญ ทว่าทรงทำสำเร็จในระดับที่โลกต้องค้อมคารวะให้กับการกลับใจของพระองค์อย่างหมดหัวใจมาแล้ว เอช จี เวลส์ นักประวัติศาสตร์นามอุโฆษคนหนึ่งของโลก สดุดีพระเจ้าอโศกผู้กลับใจเอาไว้ว่า

“ในบรรดาพระนามของเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ นับได้เป็นจำนวนพัน จำนวนหมื่น ซึ่งมีปรากฏอยู่อย่างดาดดื่น ในข้อบันทึกของประวัติศาสตร์นั้น พระนามของพระเจ้าอโศก ส่องแสงเป็นประกาย และดูเหมือนจะเป็นประกายอยู่เพียงพระนามเดียวเท่านั้น ด้วยความรุ่งโรจน์เยี่ยงดวงดาวอันสุกสกาวยิ่ง”

พระเจ้าอโศกมหาราชทรงเป็นราชโอรสของพระเจ้าพินทุสาร แห่งราชวงศ์โมริยะ ทรงมีพระชนม์อยู่ในราว พ.ศ. ๒๑๘ – ๒๖๐ เดิมทรงเป็นอุปราชอยู่ที่กรุงอุชเชนี แคว้นวัชชี ถ้าดูตามเส้นทางการสืบสันตติวงศ์แล้ว พระองค์ก็ต้องเป็นกษัตริย์พระองค์ต่อไปโดยความชอบธรรม แต่ในทางปฏิบัติแล้วไม่เป็นอย่างนั้น เพราะพอพระเจ้าพินทุสารสวรรคตแล้ว เกิดมีการสับเปลี่ยนลำดับกษัตริย์กันนิดหน่อย เป็นเหตุให้มหาอุปราชอโศกต้องกรีธาทัพเข้าเมืองเพื่อยึดราชบัลลังก์ ในการศึกระหว่างพี่น้องคราวนี้ ทรงสังหารพี่น้องร่วมท้องบิดาเดียวกันไปกว่า ๙๙ องค์ คงเหลือไว้เพียงพระอนุชาร่วมพระมารดาเดียวกันพระองค์หนึ่ง หลังจากทรงได้บัลลังก์ที่ต้องแลกมาด้วยเลือดแล้ว ก็ทรงใช้เวลาอีกกว่า ๔ ปีในการจัดการกับศึกภายในจนราบคาบ ในปีที่ ๔ นี้เอง จึงทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์อย่างสมบูรณ์ ตลอดเวลาที่เสวยราชย์ ทรงเป็นกษัตริย์ผู้กระหายสงครามอย่างยิ่ง ทรงรุกรบแผ่ขยายพระราชอาณาเขตออกไปทุกทิศทุกทาง จนกล่าวกันว่า แผ่นดินที่ทรงยึดครองมาได้นั้น มีพื้นที่มากกว่าผืนแผ่นดินอินเดียในปัจจุบันหลายเท่าตัว (อย่างน้อยก็น่าจะกินอาณาเขตกว่า ๕ ประเทศ) ต่อมาในปีที่ ๘ แห่งรัชสมัย ทรงกรีฑาทัพไปยึดแคว้นกาลิงคะ(ปัจจุบันคือรัฐโอริสสา) ซึ่งเป็นรัฐที่เข้มแข็งมาก การสงครามคราวนี้ ต้องโรมรันพันตูกันอยู่นาน แต่ในที่สุดก็ทรงเป็นผู้กำชัย แต่เป็นการกำชัยที่ทรงปราชัยอย่างที่สุด เพราะทรงเกิดความสลดสังเวชอย่างใหญ่หลวงหลังสงครามเสร็จสิ้น ประวัติศาสตร์บันทึกว่า สงครามคราวนี้มีคนตายในสนามรบราว ๑๐๐,๐๐๐ คน สูญหายกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คน และถูกจับเป็นเชลยสงครามอีกกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คน เลือดคน เลือดทหาร เลือดช้างเลือดม้า หลั่งนองทั่วผืนปฐพีถึงกับกล่าวกันว่า สายธารแห่งโลหิตแดงฉานนองท่วมกีบเท้าม้า ทะเลเลือดไหลนองเป็นสายสุดลูกหูลูกตา หลังเสียงกลองศึกสงบลง พระเจ้าอโศก เสด็จดำเนินทอดพระเนตรไปทั่วสมรภูมิอย่างผู้ลำพองในชัยชนะ แต่แล้วพระองค์ทรง “ฉุกคิด” ขึ้นมาได้ว่า “เพื่อชัยชนะของข้าฯ คนเดียว ถึงกับต้องมีผู้คนบาดเจ็บล้มตายกันมากมายถึงเพียงนี้เชียวหรือ” ด้วยการฉุกคิดที่เปี่ยมไปด้วยสัมมาทิฐิเพียงวูบเดียวนี้แท้ๆ นับแต่กลับจากราชการสงครามคราวนั้นแล้วทรงเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงชนิดเป็นคนละคน

อยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่กำลังทรงหม่นหมองครองเศร้าเพราะถูกความรู้สึกผิดกัดกินใจนั่นเอง พระองค์ทรงมีโอกาสสดับพระธรรมเทศนาของพระเจ้าหลานเธอชื่อนิโครธ ซึ่งเป็นเพียงสามเณรน้อยรูปหนึ่งที่ว่า

“ความประมาท เป็นทางแห่งความตาย
ความไม่ประมาท เป็นทางแห่งความไม่ตาย
คนไม่ประมาท ไม่มีวันตาย
คนประมาท ไม่ต่างอะไรกับคนที่ตายแล้ว”

ด้วยกวีนิพนธ์บทนี้ ทำให้พระองค์ทรงมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ นับแต่นั้น เป็นต้นมา พระองค์ทรงเปลี่ยนจากศาสนาเดิมที่เคยนับถือตามเสด็จพ่อ (คือศาสนาเชน) ทรงหันมานับถือพุทธศาสนาและทรงศึกษาพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งกับพระมหาเถระชื่อ “พระโมคคัลลีบุตรติสสะ” ผลของการกลับพระทัยมานับถือพุทธศาสนา ทำให้พระองค์ทรงมีความสุขอย่างยิ่ง ทรงค้นพบคำตอบของชีวิตที่แสวงหามานานปี ทรงรู้ดีว่า คุณค่าของชีวิตมิใช่การพิชิตคนอื่น หากแต่อยู่ที่การพิชิตใจตนเองต่างหาก และนับแต่ทรงเปลี่ยนพระองค์เป็นคนใหม่ พระสมัญญานามของพระองค์ก็ทรงเปลี่ยนไปด้วย กล่าวคือ ทรงเปลี่ยนจาก “จัณฑาโศกราช” (อโศกทมิฬ) มาเป็น “ธรรมาโศกราช” (อโศกผู้ทรงธรรม)

พระเจ้าอโศกเมื่อทรงกลับพระทัยมาถือพุทธศาสนา เพราะทรงเล็งเห็นความไร้สาระของ “สงครามวิชัย” (การมีชัยโดยสงคราม) อย่างชัดเจนแล้ว จึงทรงเปลี่ยนแนวนโยบายในการบริหารแผ่นดินเสียใหม่จากสงครามวิชัยมาเป็น “ธรรมวิชัย” (การมีชัยโดยธรรม) ด้วยรัฐประศาสโนบายนี้เอง เราจึงกล่าวได้ว่า พระองค์ทรงเป็นต้นแบบของการเมืองใหม่ที่ใช้ธรรมนำหน้าอย่างแท้จริง

ธรรมวิชัย มีสาระสำคัญอย่างไร เราจะเห็นได้จากข้อความในศิลาจารึกดังต่อไปนี้

“...เรายึดมั่นในหลักแห่งธรรมวิชัย อันหมายถึงการชนะทางด้านจิตใจ ซึ่งเราถือว่า เป็นชัยชนะชนิดสูงสุด ธรรมวิชัยหรืออีกนัยหนึ่ง คือชัยชนะแห่งธรรมเท่านั้น ที่จะสามารถยังความสุขอันแท้จริง ให้เกิดขึ้นได้...ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะเตือนใจให้ลูกหลานตลอดจนเหลนของเรา ได้ตระหนักถึงความจริงในข้อนี้ เราจึงจัดให้มีการจารึกแผ่นศิลานี้ขึ้น ขอเพื่อนมนุษย์ผู้ร่วมเกิดร่วมตายทั้งหลาย จงอย่าได้มีการเอาชนะกัน ด้วยวิธีอื่นใดนอกไปเสียจากการเอาชนะกันด้วยธรรม ขอให้ท่านพึงสำเหนียกว่า ธรรมวิชัย หรือชัยชนะแห่งธรรมเท่านั้น ที่เป็นชัยชนะอันแน่แท้ถาวร ธรรมวิชัย ช่วยเราได้ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า...”

การบริหารราชการแผ่นดินภายใต้นโยบาย “ธรรมวิชัย” มีอะไรโดดเด่นบ้าง

(๑) ทรงละเลิกการทำสงครามอันเป็นการเข่นฆ่าล้างผลาญสังหารเพื่อนมนุษย์เพื่อสนองความยิ่งใหญ่ของพระองค์เพียงคนเดียวอย่างเด็ดขาด (สงครามวิชัย) ซึ่งเท่ากับว่า ทรงหันมาดำเนินอยู่บนเส้นทางแห่งสันติอย่างถาวรที่เน้นการเอาชนะใจตัวเองเป็นสำคัญ (ธรรมวิชัย)

(๒) ทรงปฏิญาณตนเป็นพุทธศาสนิกชนอย่างเข้มข้น โดยทรงปฏิบัติพระองค์เป็นตัวอย่างของประชาชนทั่วไป เช่น ทรงสมาทานอุโบสถศีล (ศีล ๘) ในวันพระขึ้น/แรม ๑๔ หรือ ๑๕ ค่ำ, ทรงงดรับประทานพระกระยาหารที่ปรุงด้วยเนื้อสัตว์, ทรงพระผนวชเป็นภิกษุในพุทธศาสนาทั้งด้วยพระองค์เองและทรงแนะให้พระโอรสพระธิดาผนวชตามด้วย

(๓) ทรงสร้างวัดอโศการาม และวัดอีกมากมายทั่วราชอาณาจักรกว่า ๘๔,๐๐๐ แห่ง จนแม้ปัจจุบันนี้ รัฐบาลแห่งประเทศอินเดีย ยังต้องยังต้องเปลี่ยนชื่อรัฐมคธเป็น “รัฐพิหาร” เพราะขุดลงไปตรงไหน ก็พบแต่ซากสถูปวิหารอยู่ทั่วไป

(๔) ทรงอุปถัมภ์การทำสังคายนาครั้งที่ ๓ แล้วโปรดให้มีการสร้างเสาศิลาจารึกบันทึกพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเผยแพร่ออกไปทั่วราชอาณาจักร จนกลายเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์มาถึงทุกวันนี้

(๕) ทรงตั้ง “ธรรมมหาอำมาตย์” เป็นทูตแห่งธรรมในการเผยแผ่พระธรรมคำสอนโดยจาริกไปทั่วราชอาณาจักร พระองค์เองก็เสด็จ “ธรรมยาตรา” ไปยังพุทธสถานทุกหนทุกแห่งเพื่อศึกษา สืบค้น และเผยแผ่พระธรรมด้วยพระองค์เองโดยมีข้าราชบริพาร มุขมนตรี และประชาชนจำนวนมากโดยเสด็จกันเป็นขบวนใหญ่อย่างเอิกเกริกเป็นทางการ ซึ่งก่อให้เกิดเป็นราชประเพณีที่กษัตริย์ฝ่ายพุทธทุกพระองค์ทรงเจริญรอยตาม

(๖) ทรงจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนในพระราชอาณาเขตอย่างทั่วถึง ถึงกับมีฝรั่งเขียนสดุดีไว้ว่า ในรัชสมัยพระเจ้าอโศก น่าจะมีคนอินเดียอ่านออกเขียนได้มากกว่าในสมัยปัจจุบันเสียอีก

(๗) ทรงสร้างโรงทาน โรงพยาบาลสำหรับคน สำหรับสัตว์ รวมทั้งทรงสร้างสวนสาธารณะ สะพาน บ่อน้ำสาธารณะทั่วไปทุกหนทุแห่งในพระราชอาณาจักร โดยเฉพาะการสร้าง “อโรคศาลา” หรือ “อาโรคยศาลา” นั้น นับเป็นแนวคิดที่ใหม่และก้าวหน้าที่สุดในสมัยนั้น จนกระทั่งบัดนี้ ก็ยังนับว่า ทันสมัยอยู่

(๘) ทรงวางพระองค์กับประชาชนดังหนึ่ง “บิดากับบุตร” ทรงเรียกขานประชาชนว่าเป็น “ลูกหลานของข้าพเจ้า” ท่าทีแบบปิตุราชาเช่นนี้ นับว่า หาได้ยากมากในหมู่พระราชาผู้เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่โดยมากมักหลงตัวเองแล้วพลอยเหยียดประชาชนลงเป็นทาสที่แทบไม่มีคุณค่าชีวิตเอาเลย

(๙) ทรงส่งพระศาสนทูตออกไปเผยแผ่พุทธศาสนายังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกถึง ๙ สาย และหนึ่งในพระศาสนทูตเหล่านั้น ก็มีอยู่สายหนึ่งซึ่งนำโดยพระโสณะกับพระอุตระ ได้นำพุทธศาสนามายังดินแดน “สุวรรณภูมิ” ซึ่งก็คือประเทศแถบอินโดจีนในปัจจุบันนี้ อันทำให้เรากล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า หากไม่มีพระเจ้าอโศกมหาราช คนไทยก็คงไม่รู้จักพุทธศาสนา

คุณูปการของพระเจ้าอโศกมหาราชนั้น เป็นคุณูปการที่ไม่มีวันลบเลือนไปจากความทรงจำของมนุษยชาติ พระองค์ได้ทรงพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การเป็นจักรพรรดิโดยการสงครามซึ่งเน้นไปที่การเอาชนะคนอื่นนั้น อย่างดีที่สุด ก็ทำให้พระองค์ทรงยิ่งใหญ่อยู่เพียงในพระราชอาณาเขตของพระองค์เพียงชั่วกาลอันแสนสั้น แต่การที่ทรงเลือกเป็นพระจักรพรรดิโดยทางธรรมที่เน้นการเอาชนะจิตใจตนเองนั้น ทำให้พระองค์ทรงเป็นจอมจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่อยู่เหนือกาลเวลาอย่างแท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น