วันอาทิตย์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2552


อโศกมหาราช จอมจักรพรรดิผู้สร้างสรรค์การเมืองใหม่
โดย ท่าน ว.วชิรเมธี
ที่มา: http://www.vimuttayalaya.net/DharmaDaily.aspx?id=73&page=10


วันที่ ๑๖ – ๒๑ กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ผู้เขียนจาริกอยู่ในแดนพุทธภูมิพร้อมด้วยคณะ ”ธรรมจาริก” ตามรอยพระพุทธเจ้า ซึ่งศึกษาอยู่ในหลักสูตร “วิชาชีวิต” หรือ “กิเลส แมเนจเม้นท์”(kilesa Management) ของสถาบันวิมุตตยาลัย จำนวน ๒๕ ชีวิต คณะของเราทั้ง ๒๕ ชีวิตท่องไปในแดนพุทธภูมิเพื่อเยี่ยมเยือนสังเวชนียสถานอันนับเนื่องในชีวประวัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยหัวใจอันเปี่ยมสุข ตลอดเส้นทางแห่งการศึกษาวิชาชีวิต ที่อบร่ำด้วยประวัติศาสตร์และการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยชีวิตอันกว้างใหญ่ไพศาลในแดนพุทธภูมิ หลายครั้ง หลายคน ในคณะของเราต้องหลั่งน้ำตาให้กับความปลื้มปีติในธรรม (ทุกแห่งที่เราไปเยือนมีการบรรยายธรรมและนำปฏิบัติสมาธิ) และซาบซึ้งในปฏิปทาอันยิ่งใหญ่ในทางธรรมของปวงมหาบุรุษมากมายในประวัติศาสตร์ที่ได้รังสรรค์สิ่งดีๆ นับอเนกอนันต์ฝากให้ให้แก่อนุชน ระหว่างเส้นทางสายบุญและปัญญาคราวนี้นั้น วันที่คณะของเราจาริกไปเยือน “วัดอโศการาม” ของพระเจ้าอโศกมหาราช นับเป็นอีกวันหนึ่งที่อยู่ในความทรงจำของใครต่อใครหลายคน บางคนต้องเสียน้ำตาให้กับความเสียสละอันใหญ่หลวงของมหาราชพระองค์นี้

มหาราชผู้ครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็น “ทรราช” แต่ทรงกลับพระทัยได้ทันเสียก่อน โลกจึงเรียกขานพระองค์เสียใหม่ว่าเป็น “มหาราช”

ใช่หรือไม่ว่า ในชีวิตจริง หากเราขับรถไปยังที่ใดที่หนึ่งแล้วเกิดเลี้ยวผิดทาง ก็ยังสามารถกลับรถใหม่ได้อย่างง่ายดาย แต่หากใครสักคนหนึ่ง ดำเนินชีวิตไปสักพักแล้วเกิดตระหนักรู้ว่า กำลังดำเนินอยู่บนหนทางที่ผิด แต่ในที่สุดก็สามารถกลับตัวกลับใจได้ คนเช่นนี้ ไม่ใช่หาได้ง่ายๆ แต่ทั้งๆ ที่หาได้ยากนี้เอง พระเจ้าอโศกมหาราช ก็ทรงเป็นหนึ่งในบุคคลผู้ทำสำเร็จมาแล้ว

ทั้งมิใช่ทรงทำสำเร็จอย่างธรรมดาสามัญ ทว่าทรงทำสำเร็จในระดับที่โลกต้องค้อมคารวะให้กับการกลับใจของพระองค์อย่างหมดหัวใจมาแล้ว เอช จี เวลส์ นักประวัติศาสตร์นามอุโฆษคนหนึ่งของโลก สดุดีพระเจ้าอโศกผู้กลับใจเอาไว้ว่า

“ในบรรดาพระนามของเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ นับได้เป็นจำนวนพัน จำนวนหมื่น ซึ่งมีปรากฏอยู่อย่างดาดดื่น ในข้อบันทึกของประวัติศาสตร์นั้น พระนามของพระเจ้าอโศก ส่องแสงเป็นประกาย และดูเหมือนจะเป็นประกายอยู่เพียงพระนามเดียวเท่านั้น ด้วยความรุ่งโรจน์เยี่ยงดวงดาวอันสุกสกาวยิ่ง”

พระเจ้าอโศกมหาราชทรงเป็นราชโอรสของพระเจ้าพินทุสาร แห่งราชวงศ์โมริยะ ทรงมีพระชนม์อยู่ในราว พ.ศ. ๒๑๘ – ๒๖๐ เดิมทรงเป็นอุปราชอยู่ที่กรุงอุชเชนี แคว้นวัชชี ถ้าดูตามเส้นทางการสืบสันตติวงศ์แล้ว พระองค์ก็ต้องเป็นกษัตริย์พระองค์ต่อไปโดยความชอบธรรม แต่ในทางปฏิบัติแล้วไม่เป็นอย่างนั้น เพราะพอพระเจ้าพินทุสารสวรรคตแล้ว เกิดมีการสับเปลี่ยนลำดับกษัตริย์กันนิดหน่อย เป็นเหตุให้มหาอุปราชอโศกต้องกรีธาทัพเข้าเมืองเพื่อยึดราชบัลลังก์ ในการศึกระหว่างพี่น้องคราวนี้ ทรงสังหารพี่น้องร่วมท้องบิดาเดียวกันไปกว่า ๙๙ องค์ คงเหลือไว้เพียงพระอนุชาร่วมพระมารดาเดียวกันพระองค์หนึ่ง หลังจากทรงได้บัลลังก์ที่ต้องแลกมาด้วยเลือดแล้ว ก็ทรงใช้เวลาอีกกว่า ๔ ปีในการจัดการกับศึกภายในจนราบคาบ ในปีที่ ๔ นี้เอง จึงทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์อย่างสมบูรณ์ ตลอดเวลาที่เสวยราชย์ ทรงเป็นกษัตริย์ผู้กระหายสงครามอย่างยิ่ง ทรงรุกรบแผ่ขยายพระราชอาณาเขตออกไปทุกทิศทุกทาง จนกล่าวกันว่า แผ่นดินที่ทรงยึดครองมาได้นั้น มีพื้นที่มากกว่าผืนแผ่นดินอินเดียในปัจจุบันหลายเท่าตัว (อย่างน้อยก็น่าจะกินอาณาเขตกว่า ๕ ประเทศ) ต่อมาในปีที่ ๘ แห่งรัชสมัย ทรงกรีฑาทัพไปยึดแคว้นกาลิงคะ(ปัจจุบันคือรัฐโอริสสา) ซึ่งเป็นรัฐที่เข้มแข็งมาก การสงครามคราวนี้ ต้องโรมรันพันตูกันอยู่นาน แต่ในที่สุดก็ทรงเป็นผู้กำชัย แต่เป็นการกำชัยที่ทรงปราชัยอย่างที่สุด เพราะทรงเกิดความสลดสังเวชอย่างใหญ่หลวงหลังสงครามเสร็จสิ้น ประวัติศาสตร์บันทึกว่า สงครามคราวนี้มีคนตายในสนามรบราว ๑๐๐,๐๐๐ คน สูญหายกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คน และถูกจับเป็นเชลยสงครามอีกกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คน เลือดคน เลือดทหาร เลือดช้างเลือดม้า หลั่งนองทั่วผืนปฐพีถึงกับกล่าวกันว่า สายธารแห่งโลหิตแดงฉานนองท่วมกีบเท้าม้า ทะเลเลือดไหลนองเป็นสายสุดลูกหูลูกตา หลังเสียงกลองศึกสงบลง พระเจ้าอโศก เสด็จดำเนินทอดพระเนตรไปทั่วสมรภูมิอย่างผู้ลำพองในชัยชนะ แต่แล้วพระองค์ทรง “ฉุกคิด” ขึ้นมาได้ว่า “เพื่อชัยชนะของข้าฯ คนเดียว ถึงกับต้องมีผู้คนบาดเจ็บล้มตายกันมากมายถึงเพียงนี้เชียวหรือ” ด้วยการฉุกคิดที่เปี่ยมไปด้วยสัมมาทิฐิเพียงวูบเดียวนี้แท้ๆ นับแต่กลับจากราชการสงครามคราวนั้นแล้วทรงเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงชนิดเป็นคนละคน

อยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่กำลังทรงหม่นหมองครองเศร้าเพราะถูกความรู้สึกผิดกัดกินใจนั่นเอง พระองค์ทรงมีโอกาสสดับพระธรรมเทศนาของพระเจ้าหลานเธอชื่อนิโครธ ซึ่งเป็นเพียงสามเณรน้อยรูปหนึ่งที่ว่า

“ความประมาท เป็นทางแห่งความตาย
ความไม่ประมาท เป็นทางแห่งความไม่ตาย
คนไม่ประมาท ไม่มีวันตาย
คนประมาท ไม่ต่างอะไรกับคนที่ตายแล้ว”

ด้วยกวีนิพนธ์บทนี้ ทำให้พระองค์ทรงมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ นับแต่นั้น เป็นต้นมา พระองค์ทรงเปลี่ยนจากศาสนาเดิมที่เคยนับถือตามเสด็จพ่อ (คือศาสนาเชน) ทรงหันมานับถือพุทธศาสนาและทรงศึกษาพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งกับพระมหาเถระชื่อ “พระโมคคัลลีบุตรติสสะ” ผลของการกลับพระทัยมานับถือพุทธศาสนา ทำให้พระองค์ทรงมีความสุขอย่างยิ่ง ทรงค้นพบคำตอบของชีวิตที่แสวงหามานานปี ทรงรู้ดีว่า คุณค่าของชีวิตมิใช่การพิชิตคนอื่น หากแต่อยู่ที่การพิชิตใจตนเองต่างหาก และนับแต่ทรงเปลี่ยนพระองค์เป็นคนใหม่ พระสมัญญานามของพระองค์ก็ทรงเปลี่ยนไปด้วย กล่าวคือ ทรงเปลี่ยนจาก “จัณฑาโศกราช” (อโศกทมิฬ) มาเป็น “ธรรมาโศกราช” (อโศกผู้ทรงธรรม)

พระเจ้าอโศกเมื่อทรงกลับพระทัยมาถือพุทธศาสนา เพราะทรงเล็งเห็นความไร้สาระของ “สงครามวิชัย” (การมีชัยโดยสงคราม) อย่างชัดเจนแล้ว จึงทรงเปลี่ยนแนวนโยบายในการบริหารแผ่นดินเสียใหม่จากสงครามวิชัยมาเป็น “ธรรมวิชัย” (การมีชัยโดยธรรม) ด้วยรัฐประศาสโนบายนี้เอง เราจึงกล่าวได้ว่า พระองค์ทรงเป็นต้นแบบของการเมืองใหม่ที่ใช้ธรรมนำหน้าอย่างแท้จริง

ธรรมวิชัย มีสาระสำคัญอย่างไร เราจะเห็นได้จากข้อความในศิลาจารึกดังต่อไปนี้

“...เรายึดมั่นในหลักแห่งธรรมวิชัย อันหมายถึงการชนะทางด้านจิตใจ ซึ่งเราถือว่า เป็นชัยชนะชนิดสูงสุด ธรรมวิชัยหรืออีกนัยหนึ่ง คือชัยชนะแห่งธรรมเท่านั้น ที่จะสามารถยังความสุขอันแท้จริง ให้เกิดขึ้นได้...ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะเตือนใจให้ลูกหลานตลอดจนเหลนของเรา ได้ตระหนักถึงความจริงในข้อนี้ เราจึงจัดให้มีการจารึกแผ่นศิลานี้ขึ้น ขอเพื่อนมนุษย์ผู้ร่วมเกิดร่วมตายทั้งหลาย จงอย่าได้มีการเอาชนะกัน ด้วยวิธีอื่นใดนอกไปเสียจากการเอาชนะกันด้วยธรรม ขอให้ท่านพึงสำเหนียกว่า ธรรมวิชัย หรือชัยชนะแห่งธรรมเท่านั้น ที่เป็นชัยชนะอันแน่แท้ถาวร ธรรมวิชัย ช่วยเราได้ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า...”

การบริหารราชการแผ่นดินภายใต้นโยบาย “ธรรมวิชัย” มีอะไรโดดเด่นบ้าง

(๑) ทรงละเลิกการทำสงครามอันเป็นการเข่นฆ่าล้างผลาญสังหารเพื่อนมนุษย์เพื่อสนองความยิ่งใหญ่ของพระองค์เพียงคนเดียวอย่างเด็ดขาด (สงครามวิชัย) ซึ่งเท่ากับว่า ทรงหันมาดำเนินอยู่บนเส้นทางแห่งสันติอย่างถาวรที่เน้นการเอาชนะใจตัวเองเป็นสำคัญ (ธรรมวิชัย)

(๒) ทรงปฏิญาณตนเป็นพุทธศาสนิกชนอย่างเข้มข้น โดยทรงปฏิบัติพระองค์เป็นตัวอย่างของประชาชนทั่วไป เช่น ทรงสมาทานอุโบสถศีล (ศีล ๘) ในวันพระขึ้น/แรม ๑๔ หรือ ๑๕ ค่ำ, ทรงงดรับประทานพระกระยาหารที่ปรุงด้วยเนื้อสัตว์, ทรงพระผนวชเป็นภิกษุในพุทธศาสนาทั้งด้วยพระองค์เองและทรงแนะให้พระโอรสพระธิดาผนวชตามด้วย

(๓) ทรงสร้างวัดอโศการาม และวัดอีกมากมายทั่วราชอาณาจักรกว่า ๘๔,๐๐๐ แห่ง จนแม้ปัจจุบันนี้ รัฐบาลแห่งประเทศอินเดีย ยังต้องยังต้องเปลี่ยนชื่อรัฐมคธเป็น “รัฐพิหาร” เพราะขุดลงไปตรงไหน ก็พบแต่ซากสถูปวิหารอยู่ทั่วไป

(๔) ทรงอุปถัมภ์การทำสังคายนาครั้งที่ ๓ แล้วโปรดให้มีการสร้างเสาศิลาจารึกบันทึกพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเผยแพร่ออกไปทั่วราชอาณาจักร จนกลายเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์มาถึงทุกวันนี้

(๕) ทรงตั้ง “ธรรมมหาอำมาตย์” เป็นทูตแห่งธรรมในการเผยแผ่พระธรรมคำสอนโดยจาริกไปทั่วราชอาณาจักร พระองค์เองก็เสด็จ “ธรรมยาตรา” ไปยังพุทธสถานทุกหนทุกแห่งเพื่อศึกษา สืบค้น และเผยแผ่พระธรรมด้วยพระองค์เองโดยมีข้าราชบริพาร มุขมนตรี และประชาชนจำนวนมากโดยเสด็จกันเป็นขบวนใหญ่อย่างเอิกเกริกเป็นทางการ ซึ่งก่อให้เกิดเป็นราชประเพณีที่กษัตริย์ฝ่ายพุทธทุกพระองค์ทรงเจริญรอยตาม

(๖) ทรงจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนในพระราชอาณาเขตอย่างทั่วถึง ถึงกับมีฝรั่งเขียนสดุดีไว้ว่า ในรัชสมัยพระเจ้าอโศก น่าจะมีคนอินเดียอ่านออกเขียนได้มากกว่าในสมัยปัจจุบันเสียอีก

(๗) ทรงสร้างโรงทาน โรงพยาบาลสำหรับคน สำหรับสัตว์ รวมทั้งทรงสร้างสวนสาธารณะ สะพาน บ่อน้ำสาธารณะทั่วไปทุกหนทุแห่งในพระราชอาณาจักร โดยเฉพาะการสร้าง “อโรคศาลา” หรือ “อาโรคยศาลา” นั้น นับเป็นแนวคิดที่ใหม่และก้าวหน้าที่สุดในสมัยนั้น จนกระทั่งบัดนี้ ก็ยังนับว่า ทันสมัยอยู่

(๘) ทรงวางพระองค์กับประชาชนดังหนึ่ง “บิดากับบุตร” ทรงเรียกขานประชาชนว่าเป็น “ลูกหลานของข้าพเจ้า” ท่าทีแบบปิตุราชาเช่นนี้ นับว่า หาได้ยากมากในหมู่พระราชาผู้เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่โดยมากมักหลงตัวเองแล้วพลอยเหยียดประชาชนลงเป็นทาสที่แทบไม่มีคุณค่าชีวิตเอาเลย

(๙) ทรงส่งพระศาสนทูตออกไปเผยแผ่พุทธศาสนายังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกถึง ๙ สาย และหนึ่งในพระศาสนทูตเหล่านั้น ก็มีอยู่สายหนึ่งซึ่งนำโดยพระโสณะกับพระอุตระ ได้นำพุทธศาสนามายังดินแดน “สุวรรณภูมิ” ซึ่งก็คือประเทศแถบอินโดจีนในปัจจุบันนี้ อันทำให้เรากล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า หากไม่มีพระเจ้าอโศกมหาราช คนไทยก็คงไม่รู้จักพุทธศาสนา

คุณูปการของพระเจ้าอโศกมหาราชนั้น เป็นคุณูปการที่ไม่มีวันลบเลือนไปจากความทรงจำของมนุษยชาติ พระองค์ได้ทรงพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การเป็นจักรพรรดิโดยการสงครามซึ่งเน้นไปที่การเอาชนะคนอื่นนั้น อย่างดีที่สุด ก็ทำให้พระองค์ทรงยิ่งใหญ่อยู่เพียงในพระราชอาณาเขตของพระองค์เพียงชั่วกาลอันแสนสั้น แต่การที่ทรงเลือกเป็นพระจักรพรรดิโดยทางธรรมที่เน้นการเอาชนะจิตใจตนเองนั้น ทำให้พระองค์ทรงเป็นจอมจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่อยู่เหนือกาลเวลาอย่างแท้จริง

วันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2552


หลักการทรงงาน 9 ประการ
พอเพียงภิวัตน์ : พิพัฒน์ ยอดพฤติการ

กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 05 ธันวาคม พ.ศ. 2549

ตลอดระยะเวลา 6 ทศวรรษ นับตั้งแต่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงริเริ่มการทรงงาน เพื่อประโยชน์สุข แก่ประชาชนเป็นต้นมา เป้าหมายสำคัญพื้นฐานที่ไม่เคยแปรเปลี่ยนคือ การขจัดความทุกข์ยาก และอำนวยความสุขแก่ประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่อาศัยอยู่ในชนบทห่างไกลทุรกันดาร ให้สามารถช่วยเหลือตนเอง ยืนอยู่บนขาของตนเองได้ มีชีวิตที่พอเพียงเรียบง่าย มีความมั่นคงพอควรในชีวิต เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาตนเอง ชุมชน และประเทศชาติ การดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่มีอยู่กว่า 3,000 โครงการ ได้สะท้อนให้เห็นถึงกรอบการดำเนินงานที่เป็นแบบอย่างและเป็นรากฐานสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ดังพระราชดำรัสเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2548 ว่า

"โครงการพระราชดำรินี่ เปิดเผยให้ทุกคนได้ทั้งนั้น แล้วก็ถ้าปฏิบัติตามโครงการพระราชดำริ ทำอย่างเศรษฐกิจพอเพียง ... ถ้าทุกคนเลื่อมใสต้องพอเพียงก็ปฏิบัติเถิด เพราะถ้าปฏิบัติเศรษฐกิจพอเพียง มันใช้ได้จริงๆ ไปได้จริงๆ แต่ว่าอาจจะไม่ค่อยสบาย ... เศรษฐกิจพอเพียง คือทำให้พอเพียง ถ้าไม่พอเพียงไปไม่ได้ แต่ถ้าพอเพียงสามารถนำพาประเทศไปได้ดี"

หลักการทรงงาน 9 ประการ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงใช้ในการดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตลอดระยะเวลา 60 ปี ที่พสกนิกรควรจะได้น้อมมาเป็นหลักการในการปฏิบัติตน เป็นกรอบความคิด สำหรับใช้ในการบริหารจัดการองค์การ และเป็นหลักในการพัฒนาประเทศ เพื่อความอยู่ดีมีสุขโดยถ้วนหน้า ได้แก่

(1) หลักการ "พอเพียง" และ "พออยู่-พอกิน" คือ การสร้างความ "พออยู่" "พอกิน" ให้กับคนส่วนใหญ่ของประเทศ ให้ได้ส่วนก่อนเป็นลำดับแรก ความ "พออยู่-พอกิน" เป็นรากสำคัญของชีวิตที่พอเพียงและเป็นพื้นฐานในการที่จะพัฒนาตนเอง ชุมชน และประเทศชาติในระยะต่อไป

(2) หลัก "การพึ่งตนเอง" คือ การมุ่งเน้นให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเอง สามารถมีอาหาร ที่อยู่อาศัย เพียงพอแก่อัตภาพและการดำรงชีพ โดยไม่ต้องตกเป็นเบี้ยล่างหรือพึ่งพาอาศัยผู้อื่น

(3) หลักการ "ระเบิดจากข้างใน" คือ การดำเนินกิจกรรมต่างๆ โดยคำนึงถึงความพร้อม และการมีส่วนริเริ่มดำเนินการโดยประชาชนในพื้นที่ มิใช่การริเริ่มจากภายนอก เช่น การสนับสนุนการประกอบอาชีพ โดยการใช้เทคโนโลยีชาวบ้านหรือภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เรียบง่ายและมีราคาถูก ชาวบ้านสามารถเรียนรู้ได้เร็วและมีไว้ใช้เอง การสนับสนุนให้ประชาชนอยู่รวมกลุ่มกัน หรือร่วมในกิจกรรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนของตนก่อน แล้วจึงค่อยขยายการพัฒนาออกมาสู่โลกภายนอก

(4) หลัก "ค่อยเป็นค่อยไป" ตามลำดับขั้นตอน คือ การดำเนินงานที่คำนึงถึงทุกปัจจัยและเงื่อนเวลา ให้มีความพอดี สมดุล รอบคอบ และสอดคล้องกับลักษณะของสังคมและภูมิสังคม มิใช่การดำเนินงานในลักษณะ "ก้าวกระโดด" หรือในแนวทางอนุรักษนิยมสุดโต่ง เช่น การไม่เร่งรัดนำความเจริญเข้าไปสู่ชุมชนในภูมิภาคที่ยังมิได้ทันตั้งตัว แต่ให้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อให้มีความสามารถในการรับแรงปะทะจากสถานการณ์ของโลกภายนอกได้

(5) หลักการ "รวมที่จุดเดียว" คือ การดำเนินงาน ที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาในรูปแบบของ "การพัฒนาแบบผสมผสาน" ที่ให้ผลเป็นการ "บริการรวมที่จุดเดียว" เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการบริหารงาน จากการที่ต่างคนต่างทำ มาสู่การประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปรากฏเป็นรูปธรรมชัดเจน ในโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในทุกภูมิภาคของประเทศ ที่เป็นศูนย์รวมของการศึกษาค้นคว้าทดลอง และปฏิบัติการพัฒนาในแขนงต่างๆ โดยยึดถือข้อเท็จจริง และปัญหาในแต่ละภูมิภาคที่แตกต่างกันเป็นหลัก

(6) หลัก "การไม่ติดตำรา" คือ การไม่นำเอาทฤษฎีหรือหลักวิชาการของผู้อื่นมาดำเนินการ โดยปราศจากการพิจารณาให้ถ่องแท้ ด้วยสติปัญญาว่า มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่แท้จริงของคนไทย และสังคมไทยหรือไม่ นักวิชาการชั้นสูงที่ได้รับการศึกษามาจากตะวันตก มักจะนำแนวคิดและทฤษฎีต่างๆ มาใช้กับประเทศไทยโดยไม่รอมชอม และพิจารณาถึงความแตกต่างในด้านต่างๆ ให้รอบคอบ ในที่สุด ก็มักจะประสบความล้มเหลวหรือไม่บังเกิดผลดีต่างๆ เต็มที่

(7) หลัก "การทำให้ง่าย" (Simplicity) คือ การวางแผน ออกแบบ ค้นหาวิธีการดำเนินงานที่มีลักษณะเรียบง่าย ไม่ยุ่งยากสลับซับซ้อน ทั้งในด้านแนวความคิดและด้านเทคนิควิชาการ มีความสมเหตุสมผล ทำได้รวดเร็ว สามารถแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้จริง และสามารถนำไปเป็นตัวอย่างได้

(8) หลักแห่งความเป็นจริงตามธรรมชาติ คือ แนวทางการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหา และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสภาวะที่ไม่ปกติ ให้เข้าสู่ระบบปกติ โดยใช้ธรรมชาติเป็นตัวดำเนินการ เช่น การนำน้ำดีขับไล่น้ำเสียหรือเจือจางน้ำเสีย ให้กลับเป็นน้ำดีตามจังหวะการขึ้นลงตามธรรมชาติของน้ำ การบำบัดน้ำเสียโดยใช้ผักตบชวา ซึ่งมีอยู่ตามธรรมชาติให้ดูดซับสิ่งสกปรกปนเปื้อนในน้ำ การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก ในโครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นต้น

(9) หลักการ "ขาดทุน" คือ "กำไร" (Our loss is our gain) คือ การดำเนินงานที่ยึดผลสำเร็จแห่งความ "คุ้มค่า" มากกว่า "คุ้มทุน" คำนึงถึงผลประโยชน์ของคนส่วนรวมมากกว่าผลสำเร็จที่เป็นตัวเลขอันเป็นผลประโยชน์ของกลุ่มคนส่วนน้อย เล็งเห็นผลที่ได้จากการลงทุนเพื่อประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่ อันได้แก่ ความอยู่ดีมีสุขของประชาชนซึ่งตีค่าเป็นตัวเงินไม่ได้ ซึ่งถ้าหากพิจารณาตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว อาจจะถือว่าเป็นการลงทุนที่ขาดทุนหรือไม่คุ้มทุน

ในวันที่ 5 ธันวาคมนี้ ถือเป็นวันมหามงคลยิ่งสำหรับชาวไทยทุกคน ที่จะได้มีโอกาสร่วมน้อมนำหลักการทรงงานทั้ง 9 ประการนี้มา "ปฏิบัติบูชา" ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระองค์ ในการทรงงานด้วยพระวิริยะอุตสาหะ เพื่อช่วยเหลือพสกนิกรให้ได้รับโอกาสในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ ช่วยบำบัดทุกข์ บำรุงสุขของมวลราษฎรทั่วทุกแห่งหนของประเทศไทย ในโอกาสอันเป็นมหามงคลนี้ ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ เปี่ยมด้วยพระพลานามัยที่สมบูรณ์ และพระชนมายุยิ่งยืนนานเทอญ

วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ช่างสิบหมู่กับงานช่างศิลป์ไทย

เรื่องโดย อ.วนิดา พึ่งสุนทร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
เรียบเรียงโดย "สุวรรณภูมิ"

“งานช่างศิลป์ไทย เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งของชาติ เพราะศิลปะเป็นเครื่องแสดงให้เห็นสถานภาพทางสังคม เศรษฐกิจ และวิถีชีวิตของคนในชาติที่สืบทอดกันมายาวนานจนเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ...”

พระราชดำรัสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเนื่องในวโรกาสที่เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน ในพิธีเปิดนิทรรศการพิเศษเรื่อง การช่างศิลป์ไทย พ.ศ.2536


คนไทยกับงานช่างศิลป์
เมื่อพูดถึงศิลปกรรมกับผู้สร้างสรรค์แล้ว ในปัจจุบันเราอาจนึกถึง งานศิลปะกับศิลปิน แต่ในสมัยก่อนเรายังไม่มีศัพท์เรียกเช่นนี้ คนสมัยก่อนเข้าใจงานประเภทนี้ว่าเป็นงานช่าง และภูมิปัญญาสร้างสรรค์งานศิลปะของ ช่างไทย ในสมัยก่อนก็เป็นที่ประจักษ์ถึงคุณค่าและความงามแห่งศิลปกรรมดังปรากฏหลักฐานให้เห็นอยู่ในพิพิธภัณฑ์ และโบราณสถานต่าง ๆ มากมาย

นิยามความหมายของ ช่างศิลป์ไทย
ความหมายตามที่กรมศิลปากรได้นิยามไว้กว้าง ๆ คือ
“งานหรือสิ่งที่ทำโดยผู้ชำนาญในการฝีมือ หรือศิลปที่หมายถึงฝีมือ ฝีมือทางการช่าง มีการแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์เห็นและรวมทั้งสิ่งที่จำกัดเฉพาะวิจิตรศิลป์ด้วย เป็นงานหรือสิ่งที่ทำโดยผู้ชำนาญในการฝีมือที่เป็นคนไทย ทำในประเทศไทย”
งานช่างศิลป์ เป็นงานที่อาศัยสติปัญญา และฝีมือที่ผ่านการฝึกฝนมาอย่างหนัก จึงจะเกิดผลงานอันวิจิตรและอัศจรรย์ใจแก่ผู้พบเห็น ... ซึ่งคนไทยด้วยกันอาจเห็นจนเจนตา แต่ผลงานของช่างศิลป์ไทยในสายตาของชาวต่างชาติเป็นที่ยอมรับถึงคุณค่าแห่งความงามในเชิงศิลปะอย่างแท้จริง
ศิลปะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นคู่กับมนุษย์มาช้านานแล้วนับแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เรื่อยมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน มีพัฒนาการในทางศิลปะมาโดยลำดับ
หมวดของงานช่างศิลป์ อาจแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มงานใหญ่ ๆ คือ
1. งานช่างสิบหมู่หรืองานช่างหลวง เรียกรวมว่างานหัตถศิลป์
2. งานช่างพื้นบ้าน หรือศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน เรียกรวมว่างานหัตถกรรม

ช่างสิบหมู่
ที่มาของชื่อนี้บางกระแสว่า “สิบ”มาจาก “สิปปะ” ในภาษาบาลีซึ่งหมายถึงศิลปะ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงกล่าวถึงความหมายของช่างสิบหมู่ไว้ตอนหนึ่งว่า “ช่างสิบหมู่เป็นแต่ชื่อกรมที่รวบรวมช่างไว้ มีสิบหมู่ด้วยกัน ไม่ใช่ช่างในบ้านเมืองมีแต่สิบอย่างเท่านั้น”
งานช่างสิบหมู่มีการแบ่งหมวดหมู่ไว้สิบหมวดซึ่งต่างกันไปในแต่ละสมัย โดยจะยกงานช่างสิบหมู่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ (ร.1-ร.7) ที่ได้แยกหมวดการทำงานช่างไว้สิบหมวดดังนี้คือ
1. ช่างเขียน 2. ช่างแกะ 3. ช่างสลัก 4. ช่างปั้น 5. ช่างหุ่น
6. ช่างหล่อ 7. ช่างปูน 8. ช่างรัก 9. ช่างบุ 10. ช่างกลึง


ช่างเขียน
เป็นแม่บทของกระบวนงานช่างทั้งหลาย เนื่องจากช่างทุกประเภทที่ทำงานได้ ต้องมีการร่างแบบนำทางก่อนทั้งสิ้น ในสมัยก่อนเรียกว่า “กะแผน วาดแบบ ให้แบบ” ซึ่งช่างเขียนจะต้องฝึกวาดให้ได้ทั้งลายและภาพ ซึ่งแบ่งออกเป็นสี่กลุ่มคือ “กนก นารี กระบี่ คชะ”
กนก เป็นจำพวกลายต่าง ๆ เช่น กนกแม่ลายต่าง ๆ ต้องรู้การ ออกลาย การผูกลาย
นารี เป็นจำพวกลายมนุษย์ เทวดา นารี ที่สำคัญคงเป็นภาพพระ นาง
กระบี่ เป็นจำพวกอมนุษย์ ทั้งยักษ์ ลิง อสูร ต่าง ๆ
คชะ เป็นจำพวกสัตว์ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์หิมพานต์
ที่สำคัญของงานหมวดนี้คือ จิตรกรรมฝาผนัง ที่มีทั้งส่วนที่เป็นลายรดน้ำปิดทอง และเขียนสี ซึ่งสีไทยที่สำคัญมีห้าสีคือ สีแดง เหลือง คราม ขาว และดำ ซึ่งสมารถนำมาผสมกันได้อีกหลายสิบสี
ความรู้และความเข้าใจเรื่องสีเป็นสิ่งสำคัญมาก หากสังเกตุให้ดีจะเห็นได้ว่าคุณลักษณะของการให้สีแบบช่างโบราณจะแตกต่างจากลักษณะของงานศิลปกรรมในปัจจุบัน หากมีการซ่อมสงวนที่ไม่เข้าใจเรื่องสีก็อาจทำให้คุณลักษณะอารมณ์ของภาพที่เคยมีเปลี่ยนแปลงไป คือมีสีสันฉูดฉาดกลายเป็นสีโปสเตอร์ ซึ่งผิดจากลักษณะของจิตรกรรมไทยที่จะมีโทนสีของภาพโดยรวมกลมกลืนกัน แล้วเน้นเฉพาะตัวพระนาง หรือจุดที่สำคัญเท่านั้น มิได้แข่งกันแสดงความสำคัญไปเสียทุก ๆ จุด

ช่างแกะ
เป็นการทำงานของช่างแกะรูปลายทั้งไม้ โลหะ และหิน ซึ่งวิธีการทำงานแกะวัสดุแต่ละชนิดจะมีการเขียนแม่ลายที่ต้องแกะเป็นพื้นอยู่ อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับงานช่างแกะเป็นหลักก็คือสิ่ว แต่หากเป็นการโกลนรูปขนาดใหญ่ก็อาจใช้ขวานหรือผึ่งขึ้นโกลนลายเสียก่อน แต่สิ่งสำคัญของการแกะลายคือทรงทั้งหมดที่ต้องทำให้ได้โกลนที่ถูกส่วนก่อน หากทำไม่ได้ส่วน แม้จะแกะลายละเอียดยิบเพียงใดก็ไม่งามตานัก
งานแกะที่เราคุ้นตากันส่วนมากเป็นงานไม้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมพวกหน้าบัน บานประตู หน้าต่าง ส่วนงานโลหะนั้นมักเป็นเครื่องประดับหรือของใช้ที่มีการทำลวดลายประดับที่ช่วยขับให้เกิดความแวววาว เช่น กำไล แหวน เครื่องถม หรือเครื่องคร่ำ และสำหรับงานแกะหินนั้นมักเรียกกันว่างานจำหลักหิน นอกนั้นอาจมีงานแกะสลักงาช้าง หรือวัสดุอื่น ๆ อีกบ้าง แต่จะไม่มากเท่าวัสดุทั้งสามอย่างข้างต้น

ช่างสลัก
ช่างสลักในสมัยก่อนแบ่งออกเป็นสองประเภทคือ ช่างสลักกระดาษ และช่างสลักของอ่อน ที่เรียกกันว่าเครื่องสดเช่นการแทงหยวก การแกะสลักผักและผลไม้ การสลักหรือ “ฉลัก” กระดาษ คือฉลุกระดาษให้โปร่งด้วยการใช้สิ่วตอกลาย ลักษณะอาคารที่ใช้งานสลักกระดาษจะเป็นอาคารชั่วคราว เช่น เมรุ พลับพลา เป็นต้น ลักษณะงานตกแต่งลายฉลุปิดทองในอาคารทางศาสนา ก็ใช้เทคนิควิธีการฉลุกระดาษทำลายลงรักปิดทอง และงานหนังใหญ่ก็เป็นงานประเภทช่างสลักด้วยเช่นกัน

ช่างปั้น
งานช่างปั้นที่แท้คืองานปั้นปูน โดยเฉพาะการปั้นพระพุทธรูป งานปั้นดินอาจมีการผสมกระดาษฟางหมักน้ำ เพื่อให้มีเนื้อดินมีความเหนียว ปั้นได้ง่ายมากขึ้น ช่างปั้น ช่างหุ่น และช่างหล่อ จะมีความเกี่ยวข้องกันเนื่องเพราะลักษณะงานที่สัมพัน์กัน บางที ช่างทั้งสามแขนงอาจทำด้วยคนคนเดียวกัน เช่นการทำพระพุทธรูปก็ย่อมต้องมีการปั้นหุ่นพระพุทธรูปต้นแบบขึ้นมาก่อน เพื่อที่จะนำไปเป็นต้นแบบหล่อต่อไป ทั้งนี้นอกจากการปั้นดินแล้ว ก็มีการใช้วัสดุอื่นได้ด้วย เช่น ขี้ผึ้ง เป็นต้น

ช่างหุ่น
คำว่า “หุ่น” นี้หมายถึง “ตัว หรือรูปร่าง” สิ่งที่จะทำเป็นหุ่นจึงเป็น คน หรือสัตว์ วัสดุที่ใช้คงเป็นพวก ไม้เนื้ออ่อน หรือกระดาษเท่านั้น อาจมีไม้จริงประกอบบ้างเล็กน้อย งานหุ่นจึงเป็นงานที่ไม่ใคร่จะมีความคงทนถาวรนัก เช่น “หุ่นกระบอก” ช่างหุ่นนี้อาจรวมไปถึง ช่างทำหัวโขนด้วย เพราะมีวิธีการผลิตงานแบบเดียวกัน การทำหุ่นนี้สำคัญอยู่ที่การทำโครง เรียกว่า “การผูกโครง” ซึ่งมักทำด้วยไม้ไผ่ รูปร่างหุ่นจะออกมางามหรือไม่ก็อยู่ที่การผูกโครงนี้เอง การทำหุ่นนี้ปัจจุบันเราอาจนึกถึงแต่เฉพาะหุ่นกระบอก เป็นตัว ๆ แต่จริง ๆ แล้วการทำหุ่นก็สามารถทำเป็นสิ่งของได้ เช่นการทำโคม ก็อาจทำหุ่นโคมเป็นรูปต่าง ๆ

ช่างหล่อ
คือช่างหล่อโลหะ การหล่อโลหะเป็นงานที่ทำมาช้านานแล้ว ดังปรากฏหลักฐานเป็นกลองมโหระทึก พระพุทธรูป กระถางธูป เชิงเทียน กระโถน เป็นต้น แต่งานหล่อที่สำคัญที่สุดก็คืองานหล่อพระพุทธรูป และการหล่อโลหะโดยปกติก็ใช้วิธีการที่เรียกกันว่า “ไล่ขี้ผึ้ง” เป็นวิธีของช่างที่ทำให้ขี้ผึ้งซึ่งปั้นเป็นหุ่นละลายออกจนเกิดที่ว่างในพิมพ์ แล้วเททองที่หลอมละลายดีแล้วเข้าแทนที่ ก็จะได้รูปหล่อโลหะทองสัมฤทธิ์ที่มีแบบและลักษณะเช่นเดียวกับหุ่นขี้ผึ้ง แต่ในกระบวนการในการทำนั้นมีหลายขั้นตอนช่างหล่อที่มีความสามารถจัดวางหน้าที่ช่างในแต่ละฝ่ายตามความถนัด เช่น ช่างสุมทอง ช่างเททอง ช่างแต่งพระ และต้องกำหนดสัดส่วนให้เหมาะสมตามขนาดของงานด้วย

ช่างปูน
ลักษณะงานมีความหลากหลายตั้งแต่งานซ่อม งานสร้าง งานที่ไม่ต้องใช้วามประณีตมากเช่นงานก่อปูนสอในการประสานอิฐให้เรียงต่อกัน จนถึงงานปูนปั้นที่ต้องทำอย่างประณีต และต้องเป็นช่างที่มีความชำนาญถึงขีดศิลปเพราะเมื่อนำปูนเข้าปั้นแล้วยากแก่การเอาออก และเมื่อสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยรูปแบบงานแบบพระราชนิยมส่งผลให้รูปแบบงานมีความหลากหลายมากขึ้นทั้งในรูปแบบการก่อหน้าบันและตกแต่งจั่วแทนช่อฟ้าหางหงส์ และรูปแบบวิธีในการปั้นที่ใช้วิธี “ กระแหนะปูน” โดยการปั้นปูนเข้ากับแผ่นไม้ทำเป็นลวดลายดอกไม้เลื้อยเกี่ยวพันกันอย่างงดงามอย่างที่วัดราชโอรสสาราม และวัดเขมาภิรตาราม

ช่างรัก
ในงานศิลปะไทยมักมีช่างรักแทรกอยู่ในหลายกระบวนการจึงถือว่างานลงรักปิดทองเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่แสดงความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ การลงรักในสิ่งของต่างๆก็เพื่อรักษาคุณสมบัติของสิ่งของเหล่านั้นให้คงทนถาวรมากขึ้น ในการเอารักมาใช้สามารถจำแนกได้เป็นประเภทต่างๆดังนี้
รักรองพื้น ยางรักที่ผ่านการกรองแล้วใช้แปรงทาลงพื้นเพื่อให้จับผื้นแน่นเป็นครั้งแรก
รักสมุก การผสมรักกับถ่านใบตองหรือถ่านหญ้าคาโดยบดเนื้อรักกับส่วนผสมให้ละเอียดจนพอปั้นได้
รักน้ำเกลี้ยง เป็นรักแบบแห้งเร็วทาทับบนรักสมุกที่ขัดเรียบเกลี้ยงทำให้พื้นรักดูเป็นเงางามมากขึ้น

ช่างบุ
“บุ ”หมายถึงการตีแผ่ให้แบนออกเป็นรูปต่างๆ ช่างบุจึงต้องอาศัยความชำนาญในการตีโลหะให้ขึ้นรูปเป็นภาชนะต่างๆหากเป็นงานที่ต้องอาศัยความประณีตมากขึ้น เช่นบรรดาเครื่องราชูปโภค เครื่องประดับต่างๆก็มักต้องมีช่างบุแทรกอยู่ตามส่วนต่างๆของงานด้วย นอกจากนี้ช่างบุต้องมีความชำนาญในการผสมโลหะต่างๆ เช่นในการบุเงินนั้นต้องมีการใส่ส่วนผสมของทองแดงเพื่อให้เนื้อเหนียวขึ้น รวมถึงกรรมวิธีในการตีบุแผ่นโลหะให้กระจายออกอย่างสม่ำเสมอ

ช่างกลึง
การกลึงจำต้องอาศัยแบบที่บอกขนาดไว้เรียบร้อยแล้ว โดยการการกลึงต้องมีการโกลนรูป หรือการขึ้นรูปทรงคร่าวๆ แต่ในการโกลนรูปแบบที่จะกลึงนั้นต้องคำนึงถึงศูนย์กลางโดยในการกลึงนั้นจะมีลักษณะอยู่ สองแบบด้วยกันคือ
- การกลึงที่เอาแต่รูปภายร่างภายนอก เช่นเสาหัวเม็ดทรงมัณฑ์ เหรือเสาหัวกลมต่างๆตลอดจนตัวหมากรุก ด้ามมีดเป็นต้น
- การกลึงทั้งภายนอกและภายใน เช่นการกลึงตลับ กลึงโกส กลึงเชี่ยนหมาก
เมื่อกลึงสิ่งของแล้วช่างกลึงจะส่งต่อให้ช่างไม้ประกอบเข้ากับสิ่งของหรืออาคารสถานที่ต่างๆ แล้วหลังจากนั้นจึงเป็นหน้าที่ของช่างกลุ่มต่างๆต่อไปในการตกแต่งและทำให้งานสมบูรณ์

งานศิลปหัตถกรรมไทยในปัจจุบัน
งานช่างศิลป์ไทย ไม่ว่าจะเป็นงานหัตถศิลป์ หรือหัตถกรรม ล้วนทำขึ้นโดยอาศัยทักษะ เทคนิค ซึ่งเป็นภูมิปัญญาอันมีค่า ควรแก่การยกย่องทั้งสิ้น นั่นย่อมปฏิเสธไม่ได้ถึงคุณค่าที่มีอยู่ในตัวงาน แม้ผ่านกาลเวลามาเนิ่นนานเพียงใด คุณค่านั้นก็ยังคงอยู่ และอาจมีคุณค่ามากยิ่งขึ้นไปอีก เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับคุณค่าทางประวัติศาสตร์ศิลปะร่วมด้วย
และงานช่างศิลป์ในอดีต ก็ส่งผ่านมาถึงงานช่างศิลป์ในปัจจุบัน แม้ว่าการทำงานช่างศิลป์บางประเภทอาจมิได้ทำขึ้นเพื่อรับใช้ชนชั้นสูงดังเช่นเป็นมาในอดีตแล้ว แต่ก็สามารถประยุกต์ไปสู่การใช้สอยแบบใหม่ ๆ ในปัจจุบันได้ สิ่งซึ่งเป็นคุณค่าของงานช่างศิลป์ไทยประการหนึ่งซึ่งเด่นชัด คือเป็นงานที่ทำด้วยมือ ทั้งยังเป็นงานที่ปราณีต ต้องมีทักษะฝีมือผ่านการฝึกฝนอย่างเข้มข้น มีรากฐานแห่งภูมิปัญญา ความคิด งานที่ทำขึ้นทุกชิ้นจึงมีจิตวิญญาณแห่งการสรรค์สร้างของช่าง หรือศิลปินประสมอยู่ด้วยทุกชิ้น ซึ่งนี่เองที่ทำให้งานช่างศิลป์ไทยเป็นงานที่มีเสน่ห์ และคุณค่าอย่างแท้จริง

ช่างเชี่ยวช่างชาญเป็นงานช่าง ช่วยสร้างช่วยสรรค์เป็นงานศิลป์
เป็นทิพย์เป็นไทยให้แผ่นดิน ไม่สุดไม่สิ้นสืบวิญญาณ
ช่างเชียน ช่างปั้น ช่างแกะ สลัก หล่อ กลึง หุ่น รัก บุ ปูน ประสาน
คือช่างสิบหมู่ผู้บันดาล สายธารเส้นทางแห่งช่างไทย

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ .. ประพันธ์